คลังบทความของบล็อก

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

at the end of the day

ในตอนจบวัน ของคุณวินทร์ เลียววาริณ

ผมมีประสบการณ์หาแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่หลายครั้ง
พบว่าบางทีค่ารักษากับหมอใหม่แพงกว่าหมอที่มีประสบการณ์ยาวนาน
ทั้งที่ขัดกับหลักตรรกที่ว่า
หมอที่ทำงานยาวนานน่าจะคิดค่ารักษาแพงกว่า
เหตุผลก็เพราะว่า หมอจบใหม่บางคนเกิดอาการเกร็ง
อาจเกิดความกลัววูบขึ้นมาว่า

"จะเกิดอะไรขึ้นหากวินิจฉัยโรคพลาด?"

เมื่อเกร็งก็เกิดความไม่แน่ใจ
เพื่อความปลอดภัยต่ออาชีพของตนก็สั่งให้มี
การทดสอบในห้องแล็บเพิ่มอีกหลายรายการ
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อคนไข้ท้องเสีย ก็สั่งตรวจดูว่าเกิดจากเชื้อโรคชนิดใด
ทั้งที่คนไข้บอกว่าไม่ได้กินอาหารสกปรกอย่างแน่นอน
ผลตรวจที่ออกมาสรุปว่าท้องเสียไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค หากจากความเครียด
เมื่อรวมค่าตัวของหมอใหม่ (ซึ่งไม่สูงนัก) กับค่าตรวจในแล็บและอื่นๆ รวมๆ แล้ว
ก็มากกว่าที่คนไข้ควรจ่ายเมื่อรักษากับหมอที่มีประสบการณ์กว่า

ครั้งหนึ่งผมเกิดอาการปวดหัวตึบๆ
หมอใหม่ก็จัดการส่งผมไปสแกนสมอง ทั้งที่
ผมรู้ว่าไม่เป็นอะไรมาก "เพื่อความชัวร์" หมอว่า

เมื่อเห็นใบเสร็จ ผมก็เกิดอาการปวดหัวกว่าเดิม

เพื่อนสถาปนิก-ผู้รับเหมาคนหนึ่งบอกผมว่า
ในงานทุกชิ้นของเขา จะเจาะจงใช้แต่ช่างชั้นหนึ่งเท่านั้น
ไม่ใช้ 'มือใหม่หัดขับ' เลย ทั้งที่ค่าแรงช่างเก่าแพงกว่า 2-3 เท่า

"ทำไม?" ผมถาม

เขายกตัวอย่างงานปูน
ช่างปูนที่เพิ่งทำงานไม่นานค่าแรงต่อวันถูกมาก
แต่... เนื่องจากยังอ่อนประสบการณ์
จึงใช้ปูนซิเมนต์เปลืองมาก
ทุกครั้งที่ตักปูนมาก่อ กำแพงหรือฉาบ ปูนมักหล่นเรี่ยราด
ส่วนที่ตักเกินมาก็ปาดทิ้ง กว่าจะจบงานหนึ่งชิ้น ต้องเสียปูนไปเกินจำเป็น
ขณะที่ช่างที่เชี่ยวชาญใช้ปูนเท่าที่จำเป็น เพราะแม่นงานกว่า
เมื่อคิดรวมดูแล้ว ใช้ช่างเชี่ยวชาญถูกกว่าและได้งานที่ดีกว่า

ในช่วงชีวิตของเรา ต้องพบกับการตัดสินเลือกของสองอย่างที่เลือกยาก ส่วนมากมักมีเรื่องเงินทองมาเกี่ยว

คนส่วนมากเมื่อเจอกับการตัดสินใจดังกล่าวมักหนีไม่ค่อยพ้นสัจธรรมของ
'เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย'

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อไปสมัครงานสองบริษัทและได้งานทั้งสองแห่ง
แห่งหนึ่งให้เงินเดือนสูง แต่งานจำเจ
อีกแห่งหนึ่งเงินเดือนต่ำกว่ามาก แต่งานท้าทาย

หลายคนเลือกเงินเดือนสูงไว้ก่อน เพราะมันทำให้รู้สึกว่ามีคนเห็นคุณค่าของเรามากพอที่ยอมจ่ายมากๆ

ในชีวิตของเรายังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องตัดสินใจเลือกไปทางซ้ายหรือทางขวา และเป็นการเลือกที่ยากเอาการ

จะเรียนคณะวิชาที่ทำเงิน หรือคณะวิชาที่ชอบ?
จะเลือกงานที่ให้เงินเดือนมาก หรือเงินเดือนน้อย?
จะเลือกผู้หญิงที่ความสวยหรือความเก่ง? ฯลฯ

ฝรั่งมีวลีหนึ่งที่ว่า at the end of the day
หมายถึง การวัดผลในตอนจบวัน เป็นการใช้ชีวิตโดยการมองภาพรวม

จะลงทุนมากหรือน้อย จะทำงานใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญเท่ากับว่า ในตอนจบวันคุณเหลือเงินในกระเป๋าสตางค์เท่าไร

แม่ค้าขายขนมครกที่ทำงานไปเรื่อยๆ ตลอดวัน
เมื่อ หักค่าใช้จ่ายแล้ว อาจจะมีเงินในกระเป๋ามากกว่าเจ้าของร้านอาหารติดแอร์ฯ ที่ถึงแม้รายได้ต่อวันจะสูงกว่ามาก แต่ค่าโสหุ้ยก็สูงเช่นกัน

บางทีเมื่อวัดกันที่ 'ในตอนจบวัน'
อาจทำให้เราตัดสินใจหลายๆ เรื่องได้ง่ายขึ้น

ในตอนจบวัน แฟนคุณช่วยคุณสร้างเงินหรือถลุงเงิน?
ในตอนจบวัน คุณเก่งกว่าเดิมหรือเปล่า?
ในตอนจบวันคุณมีความสุขมากกว่าความทุกข์หรือไม่?
และในตอนจบวันคุณรู้สึกว่าชีวิตในวันนั้นสูญเปล่าหรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น