คลังบทความของบล็อก

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

SMEs กับการบริหารกิจการ

SMEs เป็นธุรกิจที่มีขอบข่ายการดำเนินงาน ค่อนข้างกว้างตั้งแต่ขายเร่แผงลอยไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กกลางและใหญ่

ถ้าเป็น SMEs ระดับกลางๆ อาจมีคนงานเป็นสิบหรือขึ้นถึงหลักร้อย และถ้าเป็น SME ขนาดใหญ่อาจมีคนงานเป็นร้อยขึ้นไปก็ได้

ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ SMEs ในบ้านเรา คือความชำนาญในการบริหารกิจการอาจมีไม่เท่ากัน และทิศทางในการบริหารองค์กรที่กำลังเติบโต หรือก่อสร้างตัวมาจากธุรกิจแบบครอบครัว ควรจะเป็นอย่างไร

ทฤษฎีในทางการบริหารทุกวันนี้ก้าวหน้าไปมาก มีกูรู (KURU) ทางการบริหารมากมาย และได้เสนอทฤษฎีใหม่ ๆ ออกมาทุกวัน ซึ่งผู้บริหาร SMEs สามารถเลือกซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มพูนความรู้หรือสมัครเข้าหลักสูตรฝึกอบรม และสัมมนาทางการบริหารได้ตลอดเวลา

ในที่นี้จะขอพูดถึงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่จะพูดในเชิงวิชาการนะครับ แต่ในเชิงประสบการณ์ที่ผมเคยอยู่ในวงการธุรกิจเอกชน และทำงานด้านบริหารการตลาดมาอย่างโชกโชนเป็นเวลา 38 ปี

กล่าวอย่างถึงที่สุดทฤษฎีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรือการบริหารองค์กรให้ไปสู่ความสำเร็จนั้นมีอยู่เพียง 3 รูปแบบเท่านั้น คือ

1. TASK ORIENTED (คือเอาภารกิจเป็นหลัก)
2. HUMAN ORIENTED (คือเอาบุคคลากรเป็นหลัก)
3. ใช้หลักผสมผสานกันทั้ง 2 รูปแบบ

แบบที่ 1 นั้น ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจจะมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นสำคัญ ไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (Human Relation) หรือขวัญกำลังใจ (Morale) มากนัก

ผู้บริหารในแบบนี้ จะให้ความสำคัญกับตัวเลขต่าง ๆ มากกว่าความพึงพอใจของบุคคลากร โดยจะเน้นไปที่ตัวเลขผลผลิต (Productivity) ตัวเลขประสิทธิภาพต่าง ๆ (Efficiency Index) ตัวเลขการลดต้นทุน (Cost Effectiveness) และตัวเลขยอดขาย (Sales Volume) กับกำไรสูงสุดของธุรกิจ (Maximize Profit) โดยที่ผู้บริหารแบบนี้จะละเลยในเรื่องของความพึงพอใจของพนักงาน Employee’s Satisfaction) สวัสดิการ (Welfare) ของพนักงาน และปฏิสัมพันธ์หรือกิจกรรมร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและพนักงาน (Interpersonal Relations และ Social Events ต่าง ๆ)

ถ้าผู้บริหารในองค์กรมีทัศนคติในเรื่อง Task Oriented สูง สภาพการทำงานหรือบรรยากาศในที่ทำงานก็คงจะเคร่งเครียด ทุกอย่างเป็นตัวเลขไปหมด ไม่มีบรรยากาศของการเป็นกันเอง ทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน ยิ่งถ้าผู้บริหารขาดทักษะหรือวิสัยทัศน์ด้านแรงงานสัมพันธ์ (Labour Relations ) บรรยากาศก็จะไปกันใหญ่ ผลผลิตหรือผลงานอาจดีขึ้นได้ในระยะสั้น ๆ แต่ในระยะยาวจะตกลง และถ้ายิ่งเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง ตลาดซบเซาหรือมีแรงกดดันจากภายนอกมาก ๆ ธุรกิจก็จะเดินต่อไปไม่ได้ หรือมีแต่จะตกต่ำลง ไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะพนักงานไม่มีกำลังใจ และไม่มีส่วนร่วมในความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

ในทำนองกลับกันถ้าการบริหารองค์กรหรือผู้บริการ เป็นแบบ ที่ 2 หรือ Human Oriented บรรยากาศหรือวัฒนธรรมในการทำงานก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือพนักงานมีความสุขกับการทำงาน ขวัญกำลังใจสูง เพราะผู้บริหารให้ความสำคัญกับคนเป็นลำดับแรก แต่ถ้าไม่มีระบบวัดผลและประเมินผลการทำงานที่ดี ก็มีโอกาสที่ผลผลิต (Productivity) อาจจะต่ำหรือไม่ต่ำ แต่ก็สู้คู่แข่งขันในตลาดไม่ได้ ประสิทธิภาพอาจไม่ดี เพราะผู้บริหารหรือองค์กรใช้จ่ายทางด้านบุคคลากรมากจนเกินไป

อาจมีข้อโต้แย้งว่าถ้าพนักงานหรือคนมีความสุข ก็ย่อมต้องรักองค์กรและร่วมมือร่วมใจกันทำเพื่อองค์กร อันนั้นเป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นตามทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงเราคงจะเห็นองค์กรที่อ่อนแอทางการบริหารแต่พนักงานมีความ สุขก็เยอะมากครับ

ดังนั้นองค์กรที่มีปรัชญาให้ความสำคัญกับคนก่อนหรือ Put People First ก็ต้องมีระบบการทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพ และมีการประเมินผลงานตลอดจนระบบการให้รางวัล (Appraisal & Rewarding) ที่เหมาะสมด้วย

เขียนมาถึงตรงนี้คงไม่ต้องพูดถึงการบริหารในแบบ ที่ 3 ซึ่งก็คือการผสมผสานรูปแบบการบริหารในแบบที่ 1 และที่ 2 อย่างลงตัว ว่าเป็นรูปแบบการบริหารที่ดีที่สุด และผู้บริหารทุกคนรวมทั้งพนักงานทุกคนใฝ่หาและต้องการให้เกิดในองค์กรของตัว เอง เพราะได้ทั้งงานและคน มีผลผลิตสูง ประสิทธิภาพสูง ศักยภาพในการแข่งขันสูง พนักงานก็มีความสุข (อย่างพอเพียง) และมีอนาคตที่ดี

ปัญหาที่อยากขมวดท้ายก็คือ ทุกคนรู้ว่านี่คือรูปแบบการบริหารที่ดีที่สุด และอยากให้เกิดขึ้นในองค์กรของตัวเอง แต่สัดส่วนที่เหมาะสมซึ่งจะผสมผสานกันอย่างลงตัวจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องสาธยายกันยาว เป็นเคล็ดลับของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกันและมีเทคนิค (FACTICS) ต่างกัน และข้อสำคัญเป็นศิลปะ (ART) ไม่ใช่ศาสตร์ (SCIENCE) ที่จะเลียนแบบกันได้ คงต้องไปว่ากันต่อในโอกาสต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น